ปลดล็อกความเมื่อยล้า ฟื้นฟูร่างกาย ด้วยศาสตร์การแช่เท้าแบบแพทย์แผนจีน

ปลดล็อกความเมื่อยล้า ฟื้นฟูร่างกาย ด้วยศาสตร์การแช่เท้าแบบแพทย์แผนจีน

บำรุงต้นไม้ต้องดูที่ราก บำรุงร่างกายต้องดูที่เท้า เป็นสุภาษิตของจีน ที่บ่งบอกถึงการให้ความสำคัญของการดูแลเท้า

เนื่องจากในศาสตร์การแพทย์แผนจีน เท้า เปรียบเสมือน หัวใจที่สอง ของร่างกาย เพราะเท้าเป็นจุดเริ่มต้น และสิ้นสุดของเส้นลมปราณหลายเส้น ซึ่งเชื่อมโยงกับอวัยวะภายในต่าง ๆ ทั่วร่างกายนั่นเอง

เคล็ดลับการแช่เท้าแบบแพทย์แผนจีน

ช่วงเวลาแช่เท้าที่เหมาะสม: 19.00 – 23.00 น.

เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เส้นลมปราณของตับ และไต ทำงานช้าลง การแช่เท้าในช่วงเวลานี้จะช่วยกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น

น้ำแช่เท้าควรมีอุณหภูมิอยู่ที่ 38 องศา – 43 องศา

เพราะหากน้ำร้อนเกินไป อาจทำให้ผิวแห้ง แตกได้ นอกจากนี้ ความร้อนที่สูงเกินไปยังทำให้หลอดเลือดขยายตัวมากเกินไป อาจลดการไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ สมอง และไต ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ

แช่ทิ้งไว้ประมาณ 15 – 30 นาที

เพราะเป็นระยะเวลาที่เพียงพอให้ร่างกายเกิดการตอบสนองต่อความร้อน เพราะหากปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป อาจส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ

แช่ให้รู้สึกมีเหงื่อซึมบริเวณหน้าผากเล็กน้อย

เพราะเป็นปฏิกิริยาที่บ่งบอกว่าร่างกายกำลังตอบสนองต่อความร้อนอย่างเหมาะสม และในทางแพทย์แผนจีน เหงื่อซึมเป็นสัญญาณของการเคลื่อนที่ของพลังงาน (ชี่) ที่ดี

ประโยชน์ของการแช่เท้า

  • ช่วยผ่อนคลายความเครียด และความเหนื่อยล้า ทำให้สมองปลอดโปร่งและลดความเครียด
  • กระตุ้นระบบไหลเวียนเลือดให้ทำงานได้ดีขึ้น ลดอาการมือ เท้าเย็น และช่วยให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น
  • ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น เนื่องจากความร้อนที่ส่งผ่านเท้าจะกระตุ้นม้าม และกระเพาะอาหาร ซึ่งช่วยให้การย่อยอาหารมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย ปวดข้อ และปวดประจำเดือน ลดอาการปวดเมื่อยหลังจากทำงานหนัก

นอกจากการแช่เท้าด้วยน้ำอุ่น เราสามารถเติมสมุนไพร เช่น ขิงแห้ง เกลือหรือโกฐเชียง ลงในน้ำเพื่อเพิ่มสรรพคุณในการกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด

หรือในขณะแช่สามารถนวดฝ่าเท้าเบา ๆ หรือหาลูกบอลมาเหยียบกดจุด เพื่อกระตุ้นอวัยวะภายในได้อีกเช่นกัน

Scroll to Top