5 อ. เคล็ดลับดูแลสุขภาพแบบ หยิน-หยาง

ตามศาสตร์แพทย์แผนจีน จะให้ความสำคัญกับการป้องกันก่อนที่จะเกิดโรค

เพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ห่างไกลจากโรคร้าย เราจำเป็นต้องรักษาหยินหยางภายในร่างกายให้มีความสมดุลอยู่เสมอ

เคล็ดลับดูแลสุขภาพแบบ หยิน-หยาง แบบง่าย มีวิธีปฏิบัติดังนี้

1) อ. อาหารสมดุลเพื่อสุขภาพ
การกินแบบหยินหยาง ในปริมาณเหมาะสมและสอดคล้องกับร่างกาย จะช่วยให้ร่างกายเกิดสมดุล ไม่เจ็บป่วยง่าย

  • คนเป็นหยิน ต้องกินอาหารฤทธิ์ร้อน เช่น ขิง พริกไทย กระเทียม หัวหอม เนื้อวัว เนื้อไก่
  • คนเป็นหยาง ต้องกินอาหารฤทธิ์เย็น เช่น เก๊กฮวย แตงโม สาลี่ สับปะรด มะพร้าว ถั่วเหลือง เต้าหู้ ปลาเนื้อขาว ปู เป็ด หอยนางรม

2) อ. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ช่วงเวลา 17.00-20.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายตื่นตัว ต้องการการกระตุ้นเพื่อสร้างความสดชื่น จึงเหมาะต่อการออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อขับของเสียและเหงื่อออก แนะนำให้ออกกำลังกายวันละ 45 นาทีถึง 1 ชั่วโมง

3) อ. อบรมจิตฝึกสมาธิ
ก่อนเข้านอนทุกคืน ควรสวดมนต์และนั่งสมาธิสัก 10 นาที เพื่อปรับลมปราณให้ดีขึ้น ช่วยให้จิตนิ่งสงบ ร่างกายผ่อนคลาย ทำให้นอนหลับสบายและลึกขึ้น

4) อ. เอนกายพักผ่อนเป็นเวลา
ควรเตรียมตัวนอนก่อนห้าทุ่ม เพราะช่วงเวลา 23.00-01.00 น. เป็นเส้นลมปราณโคจรไปที่ถุงน้ำดี รวมทั้งไม่กินมื้อดึกหลังห้าทุ่ม เพราะถุงน้ำดีจะไม่ทำงาน ไม่ย่อยสลายไขมันเพื่อดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย

5) อ. แอนตี้ต้านโรคด้วยสมุนไพร
การใช้สมุนไพร จะช่วยปรับหยินหยางในร่างกายให้สมดุล และสร้างภูมิคุ้มกันต้านโรคต่าง ๆ สามารถจำแนกความเป็น หยิน และ หยาง ดังนี้

5 อ. เคล็ดลับดูแลสุขภาพแบบ หยิน-หยาง

คุณสมบัติสมุนไพรจีน แบ่งเป็น 4 ประเภท (เย็น/เย็นจัด/อุ่น/ร้อน)

  • สมุนไพร หยิน จะมีฤทธิ์เย็นและเย็นจัด ช่วยบำบัดโรคที่เกิดจากความร้อนในร่างกาย เช่น ไข้ กระหายน้ำ ท้องผูก
  • สมุนไพร หยาง จะมีฤทธิ์อุ่นและร้อน ช่วยบำบัดโรคที่เกิดจากความเย็นในร่างกาย เช่น มือเท้าเย็น ผิวซีด ท้องร่วง จุกเสียดแน่นท้อง

รสชาติสมุนไพรมี 5 รส (ขม/เปรี้ยว/เค็ม/เผ็ด/หวาน)

  • รสเผ็ด มีสรรพคุณขับเหงื่อ แก้ลมจุกเสียด
  • รสหวาน มีสรรพคุณบำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย
  • รสเปรี้ยว มีสรรพคุณแก้เสมหะ แก้กระหายน้ำ
  • รสขม มีสรรพคุณสลายความชื้น ทำให้ขับถ่ายดีขึ้น
  • รสเค็ม มีสรรพคุณแก้ท้องเฟ้อ ใช้ภายนอกแก้โรคผิวหนัง
Scroll to Top