ในทฤษฎีของการแพทย์แผนจีน อารมณ์ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติ เกิดโรคหรือทำให้โรคเดิมแย่ลงได้
โดยอารมณ์ทั้ง 7 ได้แก่ โกรธ ยินดี เศร้าโศก วิตกกังวล ครุ่นคิด หวาดกลัว และตกใจ มีผลกระทบต่อทิศทางการไหลเวียนลมปราณของอวัยวะภายใน เพราะเมื่ออารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง และต่อเนื่องนาน ๆ จะส่งผลให้ร่างกายเสียสมดุล
อารมณ์ทั้ง 7 มีผลกับอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายต่างกันอย่างไรบ้าง ?
อารมณ์โกรธ
กระทบต่อตับ ทำให้ลมปราณในตับ ทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เลือด และลมปราณไหลเวียนไม่สะดวก จนเกิดอาการปวดหัว เวียนหัว หงุดหงิดง่าย อาจมีปัญหาเรื่องกระเพาะอาหารร่วมด้วย เนื่องจากลมปราณตับไปกระทบม้าม
อารมณ์ยินดี
กระทบต่อหัวใจ หากดีใจมากจนเกินไป จะทำให้ลมปราณหัวใจกระจัดกระจาย ส่งผลให้ใจสั่น วิตกกังวล อ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิ
อารมณ์เศร้า
กระทบลมปราณปอด ทำให้ลมปราณในปอดอ่อนแอลง จนเกิดอาการหายใจลำบาก อ่อนเพลีย และกระทบอวัยวะอื่น ๆ ตามมา เช่นไปกระทบต่อลมปราณหัวใจ จนเกิดอาการใจสั่น เป็นต้น
อารมณ์วิตกกังวล
ทำให้ลมปราณปอดปิดกั้น ติดขัด มักมีอาการหายใจไม่สะดวก ไอ แน่นหน้าอก และอาจส่งผลต่อหัวใจ ตับ และม้าม
อารมณ์ครุ่นคิดหรือคิดมาก
กระทบต่อม้าม และกระเพาะอาหาร ทำให้ระบบย่อยอาหารแย่ลง เนื่องจากลมปราณในร่างกายทำงานไม่เป็นปกติ ส่งผลทำให้เบื่ออาหาร ท้องอืด ท้องเสีย ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีแรง
อารมณ์หวาดกลัว
กระทบต่อไต ทำให้ลมปราณไตไม่มั่นคง ทำงานผิดปกติ ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ทั้งปัสสาวะ และอุจจาระ อารมณ์หวาดกลัวยังส่งผลต่อหัวใจ และปอด ทำให้รู้สึกแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวกอีกด้วย
อารมณ์ตกใจ
ทำให้เลือด และลมปราณไม่สมดุล มักมีอาการใจสั่น หายใจไม่ทั่วท้อง กระวนกระวาย นอนไม่หลับ อาจรุนแรงถึงขั้นเป็นโรคจิตได้
แม้อารมณ์ต่าง ๆ สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพของเราได้ แต่ถ้าเราสามารถควบคุมอารมณ์เหล่านี้ให้คงที่ ไม่ปล่อยให้อารมณ์รุนแรงเกินไป ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้นั่นเอง