ฝุ่น PM2.5 สร้างความกังวลใจให้กับคนไทย เนื่องจากฝุ่น PM2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งเล็กมากจนสามารถแทรกซึมเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมปอด และกระแสเลือดได้โดยตรง ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
ผลกระทบของฝุ่น PM2.5 ต่อสุขภาพ
- ผลกระทบระยะสั้น – กระตุ้นอาการภูมิแพ้ หลอดลมตีบ หายใจลำบาก เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน
- ผลกระทบระยะยาว – ทำลายหลอดเลือด ก่อให้เกิดการอักเสบและตีบตัน เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง และมะเร็งปอด
การเรียนรู้วิธีรับมือ และป้องกันตัวเองจากฝุ่น PM2.5 จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ วันนี้เรามี
8 วิธีง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเองมาฝากกัน
ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง
ตรวจสอบค่า AQI ผ่านแอปพลิเคชัน Air4Thai หรือเว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ เพื่อวางแผนกิจกรรมประจำวัน
หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง
หากค่า AQI สูง ควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะการออกกำลังกายหรือจำกัดเวลาให้น้อยที่สุด
สวมหน้ากาก N95 หรือ N99
ช่วยป้องกันฝุ่น PM2.5 เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ และเปลี่ยนหน้ากากเป็นประจำเมื่อใช้งานต่อเนื่อง
ใช้เครื่องฟอกอากาศ
เลือกเครื่องที่มีแผ่นกรอง HEPA เพื่อดักจับฝุ่น PM2.5 และหมั่นทำความสะอาดแผ่นกรองเป็นประจำ
ดื่มน้ำให้มาก ๆ
โดยเฉพาะน้ำอุ่น เพื่อลดการระคายเคืองทางเดินหายใจหรือดื่มน้ำผึ้งผสมมะนาวเพื่อลดการอักเสบ
ล้างหน้า-ล้างจมูกเป็นประจำ
เพื่อกำจัดฝุ่นละอองที่ตกค้างบนผิวหนัง และในโพรงจมูก เพื่อลดการสะสมของฝุ่น และลดความเสี่ยงต่อการอักเสบ และติดเชื้อ
ทำความสะอาดบ้านบ่อย ๆ
ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดเฟอร์นิเจอร์ และพื้นบ้านหรือเลือกใช้เครื่องดูดฝุ่นแทนการกวาดบ้าน เพื่อลดฝุ่นฟุ้งกระจายภายในบ้านโดยเฉพาะฝุ่นที่สะสมบนพื้นผิวต่าง ๆ
พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์
เสริมภูมิคุ้มกันด้วยวิตามินซี และอี จากส้ม ฝรั่ง บรอกโคลี คะน้า และเพิ่มโอเมก้า 3 จากปลาแซลมอน ซาร์ดีน ทูน่า
การปฏิบัติตามวิธีเหล่านี้ จะช่วยให้คุณรับมือกับฝุ่น PM2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ในระบบทางเดินหายใจ