อาการนิ้วล็อก คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร
อาการนิ้วล็อก เกิดจากการอักเสบเรื้อรัง และหนาตัวขึ้นของปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่นิ้วมือ ทำให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อที่อยู่ภายในปลอกหุ้มเส้นเอ็นถูกบีบรัด ไม่สามารถยืดหดได้ตามปกติ ส่งผลให้ขยับนิ้วมือได้ยาก กำมือได้ไม่สุด
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนิ้วล็อก ส่วนใหญ่เกิดจากการทำกิจกรรมที่ต้องใช้มือรับน้ำหนักเป็นเวลานาน หรือต้องทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ พบมากในกลุ่มคนที่มีการพิมพ์นาน ๆ เล่นมือถือบ่อย หรือหิ้วของหนักเกินไป
5 ท่าบริหารนิ้วมือ เพื่อป้องกันนิ้วล็อก
ท่าที่ 1 แบมือ เก็บนิ้ว
แบนิ้วมือให้สุด แล้วค่อย ๆ กำนิ้วแต่ละข้อนิ้วเข้ามาจนกลายเป็นกำปั้น แล้วค่อยคลายมือออก
ท่าที่ 2 ยืดเหยียดนิ้วมือ
ยกแขนระดับไหล่ ใช้มือข้างหนึ่ง ดันให้ข้อมือกระดกขึ้น นิ้วมือเหยียดตรงค้างไว้ นับ 1-10 แล้วปล่อย
ท่าที่ 3 มือตะขอ
ให้งุ้มโคนนิ้วลงจนมือดูคล้ายตะขอ และกำมือลง จึงค่อยเหยียดนิ้วทั้งหมดตรงกลับไปที่เดิม นับ 1-5 ทำ 10 ครั้ง
ท่าที่ 4 จีบนิ้วท่ารำ
แตะปลายนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วอื่น ๆ ทีละนิ้ว ขณะที่นิ้วอื่นเหยียดตรงทำซ้ำวนไปมาบ่อย ๆ
ท่าที่ 5 ยางยืด
ใช้ยางยืดช่วยต้าน และใช้นิ้วมือเหยียด อ้านิ้วออก ค้างไว้ นับ 1-10 แล้วค่อย ๆ ปล่อย
กรณีที่มีอาการเพียงเล็กน้อย สามารถบริหารนิ้วมือตามเบื้องต้น แต่หากมีอาการมาก เช่น ไม่สามารถงอนิ้วได้ ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี