กระดูกพรุน

ไม่ใช่แค่ผู้สูงวัย! กระดูกพรุน ถึงอายุน้อยก็เสี่ยงเป็นได้

กระดูกพรุน ภัยเงียบที่อยู่กับเรา ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุเท่านั้น อายุน้อยแต่ถ้ามีพฤติกรรมทำลายมวลกระดูก ก็อาจเป็นโรคกระดูกพรุนก่อนวัยอันควรได้

ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ ร่างกายจะสะสมมวลกระดูกได้สูงสุดถึงอายุ 30 ปี ซึ่งเป็นวัยที่กระดูกจะมีความแข็งแรงมากที่สุด และหลังอายุ 40 ปีขึ้นไป มวลกระดูกจะค่อย ๆ เสื่อมสภาพความหนาแน่นลดลง แต่พฤติกรรมบางอย่างอาจทำให้กระดูกเสื่อมเร็วโดยไม่รู้ตัว ดังนี้

1. ได้รับแคลเซียมและวิตามินดีไม่เพียงพอ
ปริมาณแคลเซียมที่คนทั่วไปต้องการต่อวัน คือ 800-1,000 มิลลิกรัม แต่ถ้าได้รับแคลเซียมน้อย ส่งผลให้นำแคลเซียมไปเสริมสร้างกระดูกไม่เพียงพอ และการขาดวิตามินดี ส่งผลให้การดูดซึมแคลเซียมในทางเดินอาหารลดลง มวลกระดูกลดลงจนนำไปสู่ภาวะกระดูกบางและโรคกระดูกพรุนได้

2. บริโภคโซเดียมมากเกินไป
การทานอาหารที่มีโซเดียมสูง ไตจะกระตุ้นให้ขับแคลเซียมออกจากร่างกายทางเหงื่อและปัสสาวะ ทำให้ร่างกายสูญเสียแคลเซียม

3. สูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์หนัก
บุหรี่มีสารนิโคตินเข้าไปขัดขวางร่างกายในการนำแคลเซียมไปใช้ ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์จะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้ ทำให้มวลกระดูกลดลง กระดูกเปราะบางมากขึ้น

4. ดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนเป็นประจำ
ชา กาแฟ น้ำอัดลม มีสารคาเฟอีน ทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกมาทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มวลกระดูกลดลง

5. ขาดการออกกำลังกาย
การออกกำลังกายจะกระตุ้นการทำงานเซลล์สร้างกระดูก และลดการทำงานของเซลล์สลายกระดูก แต่ถ้าไม่ค่อยออกกำลังกาย เซลล์สลายกระดูกเพิ่มจำนวนมากขึ้น ก่อให้เกิดกระดูกพรุนได้

6. ใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน
เช่น การทานยาสเตียรอยด์ มีผลทำให้เกิดความเสี่ยงของภาวะกระดูกพรุน หรือกล้ามเนื้อลีบได้

Scroll to Top