นาฬิกาชีวิตหย่างเซิง เป็นเคล็ดลับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง 24 ชั่วโมง ซึ่งทฤษฎีนี้มาจากตำราแพทย์แผนจีน พูดถึงความสัมพันธ์ของอวัยวะในร่างกายกับช่วงเวลา
การไหลเวียนของพลังชีวิต (ลมปราณ) ที่ผ่านแต่ละอวัยวะนั้นจะแบ่งใช้เวลา 2 ชั่วโมง มีทั้งหมด 12 อวัยวะ รวมเป็น 24 ชั่วโมง หรือ 1 วัน ดังนี้
01.00-03.00 น. | เส้นลมปราณโคจรไปที่ตับ
ควรนอนหลับให้สนิท เพราะเป็นช่วงเวลาที่ตับจะได้รับการฟื้นฟูซ่อมแซมตัวเองได้ดีที่สุด และตับจะหลั่งสารมีลาโทนินออกมาเพื่อขับสารพิษในร่างกาย
03.00-05.00 น. | เส้นลมปราณโคจรไปที่ปอด
เป็นช่วงที่ปอดทำงาน ควรตื่นขึ้นมาเพื่อรับอากาศบริสุทธิ์ยามเช้า เพราะเป็นเวลาที่ปอดฟอกเลือดได้อย่างเต็มที่ ผู้ที่ตื่นนอนช่วงนี้เป็นประจำ ปอดจะดี หน้าตาสดใส ผิวพรรณเปล่งปลั่ง
05.00-07.00 น. | เส้นลมปราณโคจรไปที่ลำไส้ใหญ่
ลำไส้ใหญ่จะทำงานได้ดีในเวลานี้ เพราะของเสียและกากอาหารจะถูกขับออกจากร่างกายได้ดีที่สุด จึงควรขับถ่ายอุจจาระทุกเช้าให้เป็นกิจวัตรประจำวัน จะช่วยให้ร่างกายสดชื่น ลดปัญหาริดสีดวงและอาการท้องผูก
07.00-09.00 น. | เส้นลมปราณโคจรไปที่กระเพาะอาหาร
เป็นเวลาที่กระเพาะจะดูดซึมและย่อยสารอาหารต่าง ๆ ได้ดีที่สุด จึงเหมาะกับการทานอาหารเช้า แต่บางคนที่ไม่ทานอาหารเช้า อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะ เนื่องจากกระเพาะอาหารอดอาหารมาตลอดทั้งคืน จึงหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากผิดปกติ
09.00-11.00 น. | เส้นลมปราณโคจรไปที่ม้าม
เป็นช่วงเวลาที่ม้ามจะเริ่มทำงานเต็มที่ เพราะร่างกายจะมีความตื่นตัวมากที่สุดหลังจากเริ่มวันใหม่ จึงเหมาะต่อการทำงาน ทำกิจกรรม ม้ามมีหน้าที่ควบคุมเลือด สร้างน้ำเหลือง การกระจายสารอาหารและน้ำไปยังร่างกาย ผู้ที่นอนเวลานี้ม้ามจะอ่อน ทำให้ไม่มีแรง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ
11.00-13.00 น. | เส้นลมปราณโคจรไปที่หัวใจ
ควรหลีกเลี่ยงความเครียด ไม่ใช้ความคิดหนัก เพราะหัวใจจะทำงานหนักในช่วงเวลานี้ ถ้าเครียดมากเกินไป อาจส่งผลให้เป็นความดันสูงหรือหัวใจวายในอนาคตได้ ดังนั้น ควรหากิจกรรมผ่อนคลายทำ เช่น ฟังเพลงสบายๆ หรือออกไปเดินเล่นข้างนอก เพื่อเก็บแรงไว้ทำงานต่อในช่วงบ่าย
13.00-15.00 น. | เส้นลมปราณโคจรไปที่ลำไส้เล็ก
เป็นเวลาที่ลำไส้เล็กดูดซึมสารอาหารและน้ำ หากทานอาหารในช่วงนี้ ลำไส้เล็กจะไม่สามารถดูดซึมอาหารและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้เต็มที่ จึงควรละเว้นไม่ทานอาหารทุกชนิด
15.00-17.00 น. | เส้นลมปราณโคจรไปที่กระเพาะปัสสาวะ
เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการดื่มน้ำและขับถ่ายปัสสาวะ ช่วงเย็นจึงเหมาะต่อการออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อขับของเสียและเหงื่อออก และยังทำให้ร่างกายแข็งแรงด้วย
17.00-19.00 น. | เส้นลมปราณโคจรไปที่ไต
ควรหลีกเลี่ยงอาหารเค็ม เพราะเป็นช่วงเวลาที่ไตทำงาน ซึ่งมีหน้าที่ช่วยปรับโซเดียมในร่างกายให้สมดุล แต่ถ้าร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณมากเกินไป ก็จะเกิดโซเดียมสะสมในเลือดสูง ไตจึงทำงานหนักเพื่อขับโซเดียมและน้ำส่วนเกินออก อาจทำให้เสี่ยง ไตวายเฉียบพลัน ได้
19.00-21.00 น. |เส้นลมปราณโคจรไปที่เยื่อหุ้มหัวใจ
เยื่อหุ้มหัวใจมีหน้าที่สูบโลหิต จึงไม่ควรทำกิจกรรมที่ทำให้เลือดที่หัวใจสูบฉีดแรงกว่าปกติ ก่อนนอนอาจจะทำโยคะ นั่งสมาธิ สวดมนต์ เพื่อให้ร่างกายเตรียมตัวเข้านอนอย่างมีประสิทธิภาพ
21.00-23.00 น. | เส้นลมปราณโคจรไปที่ระบบความร้อนของร่างกาย
เป็นช่วงที่ร่างกายปรับสมดุลความร้อน อุณหภูมิในร่างกายจะค่อย ๆ ลดลง และร่างกายจะเริ่มหลั่งเมลาโทนิน เพื่อเตรียมตัวสำหรับการพักผ่อน
23.00-01.00 น. | เส้นลมปราณโคจรไปที่ถุงน้ำดี
ถุงน้ำดีเป็นถุงสำรองเก็บน้ำย่อยที่ออกจากตับ เมื่ออวัยวะใดในร่างกายขาดน้ำ ก็จะมาดึงน้ำจากถุงน้ำดี ก่อนนอนควรจิบน้ำเล็กน้อย จะช่วยให้ถุงน้ำดีได้มีน้ำเก็บเอาไว้ใช้ในยามที่ร่างกายหลับ และป้องกันไม่ให้ถุงน้ำดีข้นจนเกินไป
ลองทำตามกันดูค่ะ!! การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจําวันให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ จะช่วยลดการเจ็บป่วย มีสุขภาพที่แข็งแรง และมีอายุที่ยืนยาว